ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม พฤษภาคม 2567 หดตัว 1.54% ระบบเตือนภัยส่งสัญญาณชะลอตัว

03 กรกฎาคม 2567
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม พฤษภาคม 2567 หดตัว 1.54% ระบบเตือนภัยส่งสัญญาณชะลอตัว
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) พ.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 98.34 หดตัว 1.54% สะท้อนภาคอุตสาหกรรมไทยยังไม่ฟื้นตัว หลังปัญหาหนี้ครัวเรือน ดอกเบี้ย พลังงานยังสูง ระบบเตือนภัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม “ส่งสัญญาณชะลอตัว” จากความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลง ภัยแล้ง

วันที่ 28 มิถุนายน 2567 นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 98.34 หดตัว 1.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.77% ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 5 เดือนแรกปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 98.16 หดตัว 2.08% และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 59.30%

จากการที่ MPI หดตัว สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงไม่ฟื้นตัว เนื่องจากปัญหาขาดกำลังซื้อภายในประเทศ หนี้ครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม 2567 ด้านการส่งออกรวมกลับมีมูลค่าขยายตัว 7.2% ขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 4.6% การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 2.9% ขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 4.4% ขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 เช่นกัน

โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (Printer) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อัญมณีและเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน เป็นต้น
สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ภาพรวมของไทยเดือนมิถุนายน 2567 “ส่งสัญญาณชะลอตัว” จากปัจจัยภายในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัว หลังความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงจากปัจจัยเสี่ยงของปัญหาภัยแล้งที่จะกระทบต่อสินค้าเกษตร

อย่างไรก็ตาม มาตรการยกเว้นวีซ่าในหลายประเทศ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจได้ ขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจยังคงปรับเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยต่างประเทศ ส่งสัญญาณฟื้นตัวระยะสั้น โดยภาคการผลิตของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในอนาคต

“จากสถานการณ์การเปิด-ปิดโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศ จากการวิเคราะห์ของ สศอ. พบว่า ภาพรวมในปี 2567 ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 แม้จะมีการแจ้งปิดกิจการโรงงาน แต่สัดส่วนของโรงงานเปิดกิจการใหม่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลต่อการลงทุน และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ขยายตัวต่อเนื่องมาจากช่วงครึ่งหลังของปี 2566

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่มีจำนวนการเปิดโรงงานมากกว่าปิด เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี สิ่งทอ แปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์อโลหะ เป็นต้น

สะท้อนให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมเหล่านี้ยังคงเป็นที่ต้องการทั้งภายในและต่างประเทศ โดยจะเป็นโรงงานขนาดใหญ่และกลางเป็นหลัก และเป็นสินค้าที่มีความสามารถในการเติบโตได้ในอนาคต

ดังนั้นภาครัฐควรเร่งส่งเสริมการลงทุน หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสนับสนุนให้เกิดการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป”

สำหรับอุตสาหกรรมหลัก ที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนพฤษภาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.88% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นหลัก เนื่องจากเกิดภาวะฝนแล้งและร้อนมากในช่วงก่อนหน้า ทำให้ผลปาล์มสุกแดด จึงมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก สำหรับการจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการอุปโภคบริโภคมากขึ้น โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.55% จากภาวะการผลิตเพิ่มขึ้นจากสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูปเป็นหลัก ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าตะวันออกกลาง บาห์เรน และญี่ปุ่น รวมถึงการรับจ้างผลิตให้กับลูกค้าต่างประเทศ

เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.18% จากเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กเส้นข้ออ้อย และท่อเหล็กกล้า เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการเร่งเบิกจ่ายในโครงการของภาครัฐ และฐานต่ำในปีก่อน

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนพฤษภาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.22% จากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล ตามการหดตัวของตลาดภายในประเทศ ที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้ออ่อนแอ สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ แต่ตลาดส่งออกขยายตัว

ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.16% จากภาวะการผลิตและการจำหน่ายลดลงของ Integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก เป็นไปตามทิศทางของตลาดอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ยังชะลอตัว ประกอบกับบางบริษัทมีการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูงขึ้น จึงมีปริมาณการผลิตลดลง

คอนกรีต ปูนซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.97% จากเสาเข็มคอนกรีต พื้นสำเร็จรูปคอนกรีต และคอนกรีตผสมเสร็จ เนื่องจากลูกค้ากลุ่มโมเดิร์นเทรดและตัวแทนจำหน่ายยังมีสต๊อกอยู่ในระดับสูง จึงชะลอคำสั่งซื้อ
แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.